สารประธานกรรมการ

ในปี 2566 ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเป็นลำดับภายหลังสถานการณ๋การแพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลง ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติ มีการใช้จ่ายบริโภคมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นกว่ายี่สิบเจ็ดล้านคน ส่งผลกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทำให้การจับจ่ายทั้งในส่วนของโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า ฯลฯ เพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนสงครามในภูมิภาคต่างๆที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี 2565 ก็ส่งผลทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจและการค้า ทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและเกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นรวมทั้งประเทศไทย ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบให้ต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าในทุกๆรายการ รวมถึงค่าขนส่ง ขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายและค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ และบริษัทย่อยอย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะประสบปัญหาและอุปสรรคเพิ่มขึ้นดังที่กล่าวมา ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทีมงาน การให้พนักงานทุกคนทำงานร่วมกันด้วยทิศทางและจุดมุ่งหมายร่วมกัน เพื่อให้ประสิทธิภาพในการผลิตและจัดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นในปี 2566 บริษัทฯ ก็มีผลประกอบการที่เติบโตดีขึ้นทั้งในแง่ของยอดขายและผลกำไร กล่าวคือยอดขายของบริษัทฯ เติบโตเพิ่มขึ้น 20% อยู่ที่ 7,871 ล้านบาท และมีผลกำไรเติบโตเพิ่มขึ้น 138% อยู่ที่ 80 ล้านบาท ซึ่งดีขึ้นกว่าหลายๆปีที่ผ่านมามาก ทั้งนี้เป็นไปตามแผนงานของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการเติบโตทั้งในธุรกิจตราผลิตภัณฑ์ของบริษัท และการรับจ้างผลิต โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจตราผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีอัตรากำไรสูงกว่าอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขยายช่องทางการตลาด และมุ่งเน้นทำกิจกรรมการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเร่งขยายฐานผู้บริโภค เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด เพิ่มยอดขาย และเพิ่มกำไร ในส่วนของธุรกิจรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing : CMG) บริษัทก็มีการหายอดขายเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ  จากลูกค้ารายเดิมที่ต้องการออกสินค้าใหม่ และหาลูกค้ารายใหม่ๆเพิ่ม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น โดยหาทางปรับลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเติบโตอย่างมีกำไร ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างแบรนด์ที่ทำกำไรได้มากขึ้น

ในส่วนของรางวัลและความภาคภูมิใจ บริษัทฯมีนโยบายในการประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบและซื่อตรง ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการและการบริหารจัดการที่ดี ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และยึดหลักบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance : ESG) กล่าวคือบริหารจัดการด้วยความเป็นธรรม มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสิทธิภาพในการจัดการ บริษัทได้ริเริ่มโครงการต่างๆมากมายที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืนและความพยายามต่างๆของเราได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งจากลูกค้า ผู้บริโภค และสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มีการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน การปรับบทบาทภาวะผู้นำของคณะกรรมการในเชิงรุกมากขึ้น  การดูแลเรื่องการบริหารความเสี่ยงต่างๆ การปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการสื่อสารเผยแพร่เรื่องนี้ไปยังบุคคลภายนอก และได้รับความร่วมมือจากซัพพลายเออร์ทุกรายในการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการคอร์รัปชั่นร่วมกับบริษัท ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนามาตรฐาน CG (Corporate Governance)  เป็นผลให้ในปี 2566 บริษัทได้รับการต่ออายุรับรองการเป็นสมาชิกของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) เป็นครั้งที่ 2 ออกไปอีก 3 ปี (ปี 2567 – 2570) และยังคงได้รับคะแนนประเมิน CG Scoring ประจำปี 2566 ระดับสูงสุด (ดีเลิศ – Excellent CG Scoring)  อยู่ในระดับ 5 สัญลักษณ์ ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 จากคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

สุดท้ายนี้ ดิฉันในนามของคณะกรรมการและบริษัท ขอขอบคุณพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้บริษัทยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้ธรรมาภิบาลควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล

นางจินตนา  บุญรัตน์

ประธานกรรมการ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)