นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมโดยยึดหลักการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบและระมัดระวังต่อผู้มีส่วนได้เสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ซึ่งบริษัทได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน  ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบและมีความมุ่งมั่นให้ทุกคนในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและถือปฏิบัติเพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท  โดยให้ถือปฏิบัติดังนี้

1) นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น  

“ ห้ามมิให้กรรมการ  ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท  ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม  ได้แก่  การรับสิ่งของ  ของขวัญ  การเลี้ยงรับรอง  เงินเรี่ยไร  เงินบริจาค และผลประโยชน์อื่นใด ให้แก่ตนเอง จากบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท” โดยให้ครอบคลุมถึงพนักงาน คู่ค้า ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งในประเทศ/ต่างประเทศ  และจัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

• คำนิยาม “ทุจริตคอร์รัปชั่น” หมายถืง การติดสินบนไม่ว่าจะในรูปแบบใด โดยการเสนอให้ สัญญา  มอบให้  ให้คำมั่น  เรียกร้อง หรือรับ (ในรูปตัวเงิน/ทรัพย์สิน) หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน  คู่ค้า  ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม  ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม  เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาเพื่อรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับธุรกิจ เว้นแต่ เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น  หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้

• คำนิยาม “การให้สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด” หมายถึง การให้สิทธิพิเศษในรูปของเงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นสินน้ำใจ เป็นรางวัล หรือเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี

• คำนิยาม “การให้สินบน” หมายถึง การเสนอให้หรือรับสิ่งของ   ของขวัญ  รางวัล หรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่ตนเอง หรือจากบุคคลซึ่งต้องการให้โน้มน้าวให้กระทำการบางอย่างที่ไม่สุจริต ผิดกฎหมาย หรือผิดจรรยาบรรณของบริษัทฯ

• คำนิยาม “การจ้างพนักงานรัฐ” หมายถึง การที่บุคคลจากภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน หรือบุคคลในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ ในลักษณะที่ทำลายภาพลักษณ์ด้านความน่าเชื่อถือและความซื่อตรงของการทำหน้าที่หรือการจัดทำนโยบายของภาครัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่น ในแง่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างไม่เป็นกลาง

• คำนิยาม “พนักงานรัฐ” หมายถึง ผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่รัฐหรือในหน่วยงานของรัฐ เช่น ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานองค์การมหาชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ครอบคลุมถึงพนักงานที่เกษียณอายุราชการ ครอบครัว

2) แนวทางปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของบริษัทและบริษัทย่อยต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และจรรยาบรรณทางธุรกิจอย่างเคร่งครัด  โดยไม่ทำพฤติกรรมใดๆที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการรับสินบนหรือติดสินบนแก่ผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนทำหน้าที่รับผิดชอบทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ในทางมิชอบส่วนตน พวกพ้อง หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนี้

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น  และจรรยาบรรณการทำงาน  โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

พนักงานและผู้บริหารของบริษัท  ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ  หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชา หรือ บุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณบริษัท ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้

ต้องไม่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและแอบแฝง ทั้งส่วนตน ครอบครัว และพวกพ้องกับบริษัท เช่น กระทำการใดๆ เพื่อขายสินค้าและบริการให้กับบริษัท หรือแข่งขันกับบริษัท

หลีกเลี่ยงการรับเลี้ยงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัทหรือจากผู้อื่นซึ่งอาจได้ประโยชน์จากการปฏิบัติงานของพนักงาน

ไม่เรียก หรือรับผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงไม่ใช้ประโยชน์จากสินบนหรือการทุจริต โดยมิชอบในการประกอบธุรกิจ

เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ผู้มีส่วนได้เสีย มีเจตนาในการเรียก หรือ ให้รับ ทรัพย์สิน ข้อเสนอ หรือ ผลประโยชน์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ให้ปฏิเสธข้อเสนอทันที บันทึกเหตุการณ์ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และรายงานต่อผู้บังคับบัญชาทันที เพื่อปฏิบัติต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม

กำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนและตรงไปตรงมาในการทำธุรกรรมและนิติกรรมกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำเนินการ และแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบว่า “มาลีกรุ๊ป” มีนโยบายไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆ เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ และขอความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียให้ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมและตรวจสอบภายใน ในการให้ข้อมูล ติดตาม และแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในองค์กร

จัดให้มีการรายงานทางการเงินที่เชื่อถือได้ มีระบบการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส มีการคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นในการดำเนินงาน โดยการติดตามดูแลและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

บริษัทกำหนดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแส เกี่ยวกับการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่น โดยจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธ หรือแจ้งเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท  โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะ

ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณของบริษัท ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้  และโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

บริษัทให้ความสำคัญในการเผยแพร่ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทเพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกที่ดี

เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นกรรมการ  ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้

2.1 การให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรอง (Gift and Hospitalities) 

หมายถึง การให้หรือการรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง ซึ่งอาจรวมถึงค่าที่พัก ค่าโดยสาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นเงิน สินค้า บริการ บัตรกำนัล เป็นต้น เพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี หรือในบางโอสาสถือเป็นการแสดงออกของมารยาททางสังคม ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจถือเป็นสินบน หากเป็นการให้เพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่

บริษัทไม่มีนโยบายจะมอบหรือรับของขวัญรูปแบบใดๆ กับผู้ทำธุรกิจกับบริษัทและบริษัทย่อย เว้นแต่การให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรองตามประเพณีนิยมอยู่ในเกณฑ์พอสมควร เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ทำธุรกิจโดยไม่หวังผลที่จะได้รับการบริการหรือสิ่งตอบแทนโดยเฉพาะเจาะจงที่ไม่ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณทางธุรกิจ โดยให้ปฏิบัติดังนี้

2.1.1 ไม่เรียกร้องสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นที่มีหน้าที่หรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัท ไม่ว่าจะดำเนินการไปเพื่อผลประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น

2.1.2 ไม่รับหรือให้สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นที่มีหน้าที่หรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัท เว้นแต่ในโอกาสหรือเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่คนทั่วไปพึงปฏิบัติต่อกัน โดยสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต้องมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท ยกเว้นของชำร่วยหรืออาหารสดที่ไม่สามารถเก็บรักษาได้นาน ในช่วงเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมบริษัทอนุโลมให้พนักงานสามารถรับสิ่งของได้ เช่น ปฏิทิน พวงกุญแจ สมุดบันทึก ฯลฯ ที่มีตราสัญลักษณ์ขององค์กรนั้นๆ ระบุไว้ภายในมูลค่าไม่เกิน 500 บาท โดยมอบหมายให้ผู้บริหารเป็นผู้แทนในการรับมอบและมีอำนาจในการพิจารณาแจกจ่ายของชำร่วยนั้นให้แก่พนักงาน  ในกรณีที่สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ให้รับได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล โดยให้ผู้รับ  รายงานผู้บังคับบัญชาของตนทราบ และส่งมอบสิ่งที่รับมาให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในกิจการของบริษัทภายใน 7 วัน     ทั้งนี้การรับดังกล่าวต้องไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด  ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ และการตัดสินใจในธุรกิจโดยไม่เป็นธรรมต่อการปฏิบัติหน้าที่

2.1.3 การใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงรับรองธุรกิจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล

2.2 เงินสนับสนุน (Sponsorships)

หมายถึง เงินที่จ่ายให้หรือได้รับจากลูกค้า คู่ค้า และหุ้นส่วนทางธุรกิจอย่างสมเหตุสมผล    โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจและเหมาะสมแก่โอกาส  ซึ่งต้องมีความถูกต้อง โปร่งใส มีหลักฐานเพื่อบันทึกบัญชีได้  ต้องระบุชื่อในนามบริษัท  การเบิกจ่ายต้องระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัท

2.3 การบริจาคเพื่อการกุศล (Charitable Contributions)

หมายถึง การให้หรือรับเงินบริจาคต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่าเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน และต้องกระทำในนามบริษัทเท่านั้น สามารถตรวจสอบได้และดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบของบริษัท

การบริจาคเพื่อการกุศลในนามส่วนตัวพึงกระทำได้แต่ต้องไม่เกี่ยวข้องหรือทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเป็นการกระทำที่ทุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์ใด

2.4 การช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contributions)

หมายถึง การให้เงิน ทรัพย์สิน สิทธิประโยชน์อื่นใด หรือสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมือง  ทั้งนี้บริษัทเป็นองค์กรที่ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมืองสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายและการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงไม่มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่พรรคการเมืองใดไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม โดยต้องปฏิบัติดังนี้

– ควรใช้สิทธิของตนเองในฐานะพลเมืองดีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
– ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้อง
– ไม่ใช้ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง

2.5 ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้าง

ห้ามให้หรือรับสินบนทั้งทางตรงและ/หรือทางอ้อมในการดำเนินธุรกิจทุกชนิด โดยต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัท มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้  และการคัดเลือกคู่ค้าจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า มีการเปรียบเทียบคุณภาพ ราคา และคุณสมบัติคู่ค้าอย่างเป็นธรรม

2.6 กระบวนการบริหารงานบุคคล

บริษัทจัดให้มีกระบวนการด้านทรัพยากรบุคคลที่มุ่งมั่นต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยต้องปฏิบัติเริ่มตั้งแต่การสรรหาหรือการคัดเลือกบุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงาน การฝึกอบรม การเลื่อนตำแหน่ง การให้ผลตอบแทนโดยให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับเป็นผู้สื่อสารและทำความเข้าใจกับพนักงาน

2.7  การฝึกอบรม การสื่อสาร และการติดตาม

1 ) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน

1.1 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน จะได้รับการอบรมหรือรับทราบเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักถึงนโยบายฉบับนี้โดยเฉพาะรูปแบบต่างๆของการคอร์รัปชั่น            ความเสี่ยงจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการคอร์รัปชั่น ตลอดจนวิธีการรายงาน กรณีพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการคอร์รัปชั่น

1.2 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน จะได้รับสำเนานโยบายฉบับนี้หรือหาได้จากใน ประกาศของบริษัท เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าทุกท่านได้รับทราบและเข้าใจถึงนโยบายของบริษัทในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ยังสามารถหาอ่านนโยบายรวมทั้งข้อมูลล่าสุดที่ปรับปรุงแก้ไขได้จากเวปไซต์ของบริษัท

1.3 การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฐมนิเทศหรือก่อนการเข้ารับตำแหน่งของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใหม่ทุกคนของบริษัท

1.4 เผยแพร่มาตรการและนโยบายการต่อต้านการให้สินบนต่าง ๆ ให้บุคลากรภายในองค์กรรับทราบ และเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการให้สินบนได้ง่าย

1.5 จัดให้มีการทดสอบความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการให้สินบนขององค์กร เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการฝึกอบรมและเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกระดับ จะสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

2)   ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ให้บริการ และผู้รับเหมา

บริษัทจะสื่อสารนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้แก่ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/ให้บริการ และผู้รับเหมาทราบ ตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และในภายหลังตามความเหมาะสม

ทั้งนี้บริษัทสนับสนุนให้ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/บริการ และผู้รับเหมายึดมั่นในมาตรฐานการรับผิดชอบต่อสังคมเช่นเดียวกับบริษัท

2.8  ค่าอำนวยความสะดวก

หมายถึง ค่าใช้จ่ายจํานวนเล็กน้อยที่จ่ายแก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้ เพียงเพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะดําเนินการหรือเป็นการกระตุ้นให้ดําเนินการรวดเร็วขึ้น

บริษัทไม่มีนโยบายที่จะจ่ายค่าอำนวยความสะดวกใดๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ ของรัฐ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วมากขึ้น

2.9 การจ้างพนักงานรัฐ

บริษัทมีนโยบายการจ้างงานพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง หรือที่ปรึกษาของบริษัท โดยต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก การอนุมัติการจ้าง การกำหนดค่าตอบแทน และกระบวนการควบคุมเพื่อให้มั่นใจว่าการจ้างพนักงานรัฐจะไม่ได้เป็นการตอบแทนการได้มาซึ่งประโยชน์ใดๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท และส่งผลต่อความเที่ยงตรงของการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่น

ข้อกำหนดในการดำเนินการ

• การจ้างพนักงานของรัฐ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบประวัติของบุคคลที่บริษัทจะสรรหาเพื่อแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัท เพื่อตรวจสอบสิ่งที่อาจเป็นประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ก่อนแต่งตั้ง

• การจ้างพนักงานของรัฐ และการกำหนดค่าตอบแทนในการจ้างพนักงานของรัฐ ต้องได้รับการพิจารณาเหตุผลความจำเป็นอย่างระมัดระวัง และให้ปฎิบัติดังนี้

– การคัดเลือก การอนุมัติการจ้าง และการกำหนดค่าตอบแทน ในการจ้างพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งพนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายลงไป ต้องได้รับการพิจารณาเหตุผลความจำเป็น จากประธานเจ้าหน้าที่บริหารก่อนการจ้างพนักงานรัฐนั้นๆ

– การคัดเลือก การอนุมัติการจ้าง และการกำหนดค่าตอบแทน ในการจ้างพนักงานรัฐ เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ และระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไป ต้องได้รับการพิจารณาเหตุผลความสำคัญอย่างระมัดระวังจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัทฯ

• ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างพนักงานของรัฐไว้ในรายงานประจำปี

2.10 การขัดแย้งทางผลประโยชน์

หมายถึง การดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่อาจมีความต้องการส่วนตัวหรือของบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าโดยทางสายเลือด เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรือเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทได้

บริษัทกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์  โดยมีหลักการที่สำคัญดังนี้

• ละเว้นการประกอบกิจการอันเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อยไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อบริษัทฯ ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม หรือเข้าเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือกรรมการ หรือผู้บริหารในกิจการที่เป็นการแข่งขัน หรือมีลักษณะเดียวกันกับบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย

• ต้องรายงานการมีส่วนได้เสียที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ หรือบริษัทย่อยได้ เช่น การดำรงตำแหน่งใด ๆ ของคู่ค้าที่ประกอบธุรกิจกับบริษัทฯ หรือลูกค้าของบริษัทฯ เป็นต้น และต้องรายงานให้บริษัทฯทราบทันที

• ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยอาศัยข้อมูลอันเป็นความลับของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อย

3) การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับและผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ บริษัทจัดให้มีการเผยแพร่ให้ความรู้ให้คำปรึกษาและทำความเข้าใจกับ กรรมการ ผู้บริหาร บุคลากรในองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้   บริษัทจะดำเนินการดังต่อไปนี้

 3.1 ติดประกาศในองค์กรให้ได้รับทราบนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถานที่เด่นชัด

3.2 เผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท ได้แก่ รายงานประจำปี เว็บไซด์ของบริษัท อีเมล์ และรายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1)

3.3 จัดให้มีการอบรมนโยบายต่อต้านการทุจริต   คอร์รัปชั่นแก่กรรมการบริษัทที่เข้าใหม่ และพนักงานใหม่

4) ขั้นตอนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทจัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอและทบทวนแนวทางการปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5) การประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

บริษัทจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงในกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น และสอบทานการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง

6) การตรวจสอบทางบัญชี และการจัดเก็บรักษาข้อมูล

• บริษัทมีกระบวนการตรวจสอบรายการทางบัญชี และมีการอนุมัติอย่างเหมาะสมก่อนบันทึกรายการเข้าระบบบัญชี โดยจะตรวจสอบตามนโยบายต่างๆ ของบริษัท กฎระเบียบต่างๆ ของทางการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง สัญญา หรือข้อตกลง และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและนโยบายการบัญชีอย่างเหมาะสม

• ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายลงทุน ต้องมีหลักฐานประกอบอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต้องได้รับการอนุมัติตามระดับวงเงินโดยผู้มีอำนาจอนุมัติที่กำหนดไว้ในนโยบายค่าใช้จ่ายดำเนินงาน

• รายงานทางการเงินจะต้องจัดทำอย่างถูกต้อง เป็นจริง และเชื่อถือได้ และต้องเปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นกัน รวมถึงข้อมูลรายการระหว่างกัน และหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้น

• บริษัทมีการควบคุมการจัดเก็บเอกสารทางบัญชีอย่างเพียงพอ และปลอดภัย เพื่อใช้ในการตรวจสอบได้ทันที มีการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลทางบัญชี และมีการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลสำรองอย่างปลอดภัย

7) การรับแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน (Whistle Blowing Center)      

บริษัทส่งเสริมให้พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการแจ้งเบาะแสถึงการกระทำที่อาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นไปยัง“ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ” เพื่อพิจารณาโดยผ่านช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนดังนี้

Whistle Blowing Center:

ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 401/1 หมู่ที่ 8 ถนนพหลโยธิน

auditcommittee@malee.co.th

02 080 7899 ต่อ 1422

Click หัวข้อ “แจ้งเบาะแสทุจริตคอร์รัปชั่น” ใน SmartMalee

กล่องร้องเรียนพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่น

บริเวณสำนักงานรังสิตและโรงงานสามพราน

โดยบริษัทจะมีกระบวนการภายใน ในการกลั่นกรองและพิจารณาเรื่องเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทต่อไป

 8) มาตรการคุ้มครองและรักษาความลับ

บริษัทให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลที่กระทำโดยเจตนาสุจริต และจะแต่งตั้งผู้บริหารเพื่อตรวจสอบติดตามทุกเบาะแสที่แจ้งเข้ามา  โดยจะเก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียน และเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนและผู้ให้ข้อมูลไว้เป็นความลับ

9) การไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

หากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน มิได้ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัท จะต้องได้รับบทลงโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนด  ซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและสถานะการณ์แวดล้อม   และหากการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นผิดกฎหมาย ผู้กระทำผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย  ขณะเดียวกันบริษัทไม่มีนโยบายลดตำแหน่งลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น

10) การทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุง          

บริษัทกำหนดให้มีการทบทวน ตรวจสอบ และปรับปรุงนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องทุก 2 ปี หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงที่มีสาระสำคัญให้สามารถปรับปรุงแก้ไขทันที

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไปโดยยกเลิกนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นฉบับเดิม(ฉบับลงนามวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562)

(นางจินตนา บุญรัตน์)

ประธานคณะกรรมการบริษัท

บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

หมายเหตุ: เป็นฉบับเพิ่มเติมแนวทางปฎิบัติตามนโยบาย,การทบทวนตรวจสอบ และผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัทเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565